กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ

พิมพ์

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ
 
ประเทศไทยปกครองโดยระบบนิติรัฐ กล่าวคือ การบริหารบ้านเมืองหรือการกระทำใดๆของรัฐบาลหรือประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายหรือมีกฎหมายให้อำนาจ ให้สิทธิ จึงจะสามารถดำเนินการได้ การประกอบกิจการสถานีวิทยุก็เช่นเดียวกัน ต้องมีกฎหมายเขียนไว้จึงจะสามารถดำเนินการได้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุที่สำคัญมี ๓ ฉบับดังนี้
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีสาระสำคัญดังนี้
     - กำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ต้องนำมาจัดสรร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วกัน
     - กำหนดให้มีองค์กรอิสระมาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นวิทยุดังกล่าว
๒. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ มีสาระสำคัญดังนี้
     - กำหนดโครงสร้างขององค์กรที่จะมาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ตลอดจนกำหนดให้องค์กรดังกล่าวทำหน้าที่ออกระเบียบ กฎเกณฑ์การจัดสรรคลื่นวิทยุ การออกใบอนุญาต
     - องค์กรดังกล่าวมีชื่อย่อว่า กสช. และตามกฎหมายใหม่ที่กำลังร่างแก้ไขอยู่ เรียกว่า กสทช. ปัจจุบัน กสช.หรือ กสทช. ยังไม่มีการแต่งตั้ง
     - กำหนดประเภทผู้ประกอบกิจการวิทยุไว้ ๓ ประเภท คือ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
     - ขณะนี้กฎหมายฉบับนี้กำลังจะถูกยกเลิกทั้งฉบับ โดยสภาผู้แทนราษฎรกำลังร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นแทน ซึ่งมีเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการเดิม ที่มีผลกระทบต่อวิทยุเสียงธรรมฯ
๓. พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
มีสาระสำคัญดังนี้
     - กำหนดประเภทผู้ประกอบกิจการ
     - กำหนดประเภทใบอนุญาต
     - กำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนใบอนุญาต
 
วิทยุเสียงธรรมเกิดจากกฎหมายฉบับใดและลักษณะการประกอบกิจการเป็นอย่างไร
วิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนและเครือข่ายก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ มีผลใช้บังคับอยู่
     วิทยุเสียงธรรมฯ เป็นการประกอบกิจการโดยภาคประชาชนเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในด้านศาสนาระดับชาติ กล่าวคือ หลังจากที่มีการก่อตั้งสถานีวิทยุที่สวนแสงธรรมและที่บ้านตาด ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่ายแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตาได้ร่วมกันจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อก่อตั้งสถานีวิทยุตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นภูมิลำเนาของตน แล้วกล่าวมอบถวายให้สถานีวิทยุตามจังหวัดต่างๆ ดังกล่าว เป็นลูกข่ายของสถานีวิทยุเสียงธรรมบ้านตาด
ลักษณะของสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เหมือนกันกับสถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ รัฐสภา อสมท. เป็นต้น เนื่องจากวิทยุเหล่านี้มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ
 
ปัญหาของสถานีวิทยุเสียงธรรมในปัจจุบัน
ขณะนี้สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ อยู่ระหว่างขอยื่นจดทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบกิจการได้ แต่กระบวนการมีความล่าช้า มีสาเหตุมาจาก
๑. กฎหมายที่ออกมาภายหลังเขียนไว้ไม่ชัดเจน คือ พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ว่าไม่ชัดเจนคือ
กฎหมายฉบับนี้เขียนคำว่า “ชุมชน” แทนคำว่า “ภาคประชาชน” ซึ่งคำว่า “ชุมชน” นี้ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลวิทยุชั่วคราวคือ กทช. ตีความหมายในวงแคบ โดยให้วิทยุชุมชนมีรัศมีส่งไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตรเท่านั้น
จากกรณีดังกล่าว หากวิทยุเสียงธรรมฯ ไปยื่นขอจดทะเบียนต่อ กทช. มีแนวโน้มว่าอาจจะถูกจำกัดรัศมีการส่งกระจายเสียงเหลือไว้เพียง ๑๕ กิโลเมตรเท่านั้น
แนวทางแก้ปัญหาในข้อนี้ คือ คณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตากำลังสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว อยู่ในลำดับที่จะยกขึ้นพิจารณา ๖๐ กว่า ซึ่งจะเป็นไปอย่างล่าช้า
นอกจากนี้ แนวทางแก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง คือ ได้มีการยื่นเรื่องของสถานีวิทยุเสียงธรรมทั้งแม่ข่ายและลูกข่าย ๑๑๗ สถานี ต่อคณะกรรมการ กทช. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวิทยุชั่วคราวแทน กสทช. ที่ยังแต่งตั้งไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้หาทางออกให้แก่วิทยุเสียงธรรมทั้งหมด
๒. จากกรณีที่รัฐสภากำลังแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ว่ามีการยกเลิกทั้งฉบับและเปลี่ยนแปลงหลักการไปจากเดิมนั้น ขณะนี้คณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตากำลังประสานงานขอให้มีการคงหลักการเดิมไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ประกอบกิจการวิทยุภาคประชาชนทั่วประเทศไม่เฉพาะวิทยุเสียงธรรม
อุปสรรคปัญหาของคณะประสานงาน
ในการไปประสานงานของคณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตา เกี่ยวกับการยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อ กทช. ก็ดี การยื่นเรื่องขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายก็ดี ทำให้ทราบว่ามีปัญหาอุปสรรคมากมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานีวิทยุเสียงธรรมทั้งแม่ข่ายและลูกข่าย ๑๑๗ สถานี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคณะศิษยานุศิษย์ทุกฝ่าย มิฉะนั้นแล้วสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชนและเครือข่ายอาจจะได้ส่งกระจายเสียงออกไปเพียงรัศมี ๑๕ กิโลเมตรเท่านั้น
 
[ Back ]