วิทยุชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

พิมพ์

 

วิทยุชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน'
วิทยุชุมชนโดยชุมชน เพื่อชุมชน' ปาฐกถาโดยจอน อึ๊งภากรณ์
ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๓ ปีสหพันธุ์วิทยุชุมชน
โดย จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ ๑๐ ต.ค. ๔๘
 
คำว่า "วิทยุชุมชน" นั้นหากเป็นของจริงของแท้ย่อมต้องหมายถึงสถานีวิทยุ "ของชุมชน" "โดยชุมชน" และ "เพื่อชุมชน"
การที่ชุมชนเป็น "เจ้าของ"นั้น ย่อมหมายความว่าชุมชนนั้นเป็นผู้ตัดสินใจก่อตั้งสถานีเป็นผู้ลงทุนหรือสรรหาทุนร่วมกัน เป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ของสถานีตลอดจนเป็นผู้เลือกตั้งและถอดถอนกรรมการและผู้บริหารของสถานีทั้งนี้โดยอาศัยที่ประชุมของชุมชนซึ่งสมาชิกชุมชนทุกคนมีสิทธิในการมาร่วมประชุมและในการเสนอญัตติหรือเสนอความคิดเห็นและในการลงคะแนนเสียงคนละหนึ่งคะแนนเท่าเทียมกันหมด
การดำเนินการ "โดยชุมชน"หมายความว่าทุกคนในชุมชนมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกิจการของสถานีตามความสมัครใจเช่นเป็นผู้บริหารหรือกรรมการดำเนินงาน ผู้ดูแลผังรายการ ผู้กำกับรายการ ผู้ประกาศผู้อ่านข่าว ผู้ศึกษาและรวบรวมข้อมูล ผู้เขียนบท ดีเจ ผู้ควบคุมเสียงผู้ดูแลรักษาเครื่องส่ง ตลอดจนผู้ชงกาแฟ ฯลฯ
การดำเนินการ "เพื่อชุมชน"หมายความว่ารายการวิทยุต่างๆ ต้องสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาของชุมชนและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อชุมชน ดังนั้นรายการวิทยุจะต้องไม่มีลักษณะ หลอกลวง มอมเมาโฆษณาชวนเชื่อ ส่งเสริมผลประโยชน์เฉพาะบุคคล สร้างความแตกแยกหรือทำลายวัฒนธรรมที่ดีหรือความเข้มแข็งของชุมชนทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสถานีวิทยุดังกล่าวจะเสนอความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายของคนในชุมชนไม่ได้เพราะสถานีวิทยุควรเป็นเวทีกลางที่ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและถกเถียงกันได้แต่ที่สำคัญสถานีจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนเท่าเทียมกันหมดเพราะทุกคนเป็นเจ้าของสถานีเหมือนกัน
ข้อความที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้น่าจะสามารถใช้เป็นเกณฑ์และบรรทัดฐานในการตรวจสอบและประเมินผลวิทยุชุมชนว่าใช่ของจริงหรือไม่ แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าในปัจจุบันจะหาสถานีวิทยุที่เป็น "ของชุมชน" "โดยชุมชน" และ "เพื่อชุมชน" อย่างแท้จริงนั้นได้ยากแม้แต่ในหมู่พวกท่านกันเองที่ทำวิทยุชุมชนด้วยอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมก็ตาม
ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะท้าทายพวกท่านคือขอให้ช่วยกันพัฒนาสถานีวิทยุชุมชนให้เป็น "ของชุมชน" "โดยชุมชน" และ "เพื่อชุมชน"ให้ได้แม้จะต้องทุ่มเทกำลังและใช้เวลานานในการส่งเสริมการเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมของชุมชนและในการพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของรายการวิทยุก็ตาม
วันนี้ผมตั้งใจจะไม่พูดถึงปัญหาอุปสรรคที่มาจากภาครัฐเพราะเป็นเรื่องที่ทราบกันดี เห็นพ้องต้องกัน และพูดกันมามากแล้วจึงขอพูดแต่ในเรื่องที่เป็นโจทย์สำหรับพวกท่านที่เป็นผู้บุกเบิกวิทยุชุมชนผมเห็นด้วยกับผู้ช่วยของผมซึ่งได้ช่วยผมในการเตรียมประเด็นที่กล่าวถึงในวันนี้ว่าคำว่า "ชุมชน" นั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงชุมชนในทางภูมิศาสตร์
ถ้าเป็นชุมชนทางภูมิศาสตร์เช่นเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล หรือชุมชนสลัม การกระจายเสียงด้วยกำลังส่งไม่เกิน๓๐ วัตต์ และเสาอากาศสูงไม่เกิน ๓๐ เมตรอาจจะเหมาะสมอยู่ แต่ผมเห็นว่า รูปแบบของ 'ชุมชน' ไม่อาจถูกตีกรอบที่อาณาเขตทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียวเพราะชุมชนยังหมายถึงกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องหนึ่งๆร่วมกันหรือมีประสบการณ์ร่วมกัน
แม้ว่าผมจะมีวิทยุชุมชนที่ใกล้ตัวผมมากคือที่ปากทางเข้าหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่มีห้องแถวห้องหนึ่งที่ติดป้ายตัวโตอยู่ด้านหน้าว่าจุดปฏิบัติการการเรียนรู้วิทยุชุมชน ซึ่งเป็นคลื่นเท่าไรผมก็จำไม่ได้จัดแต่รายการเพลงตามคำขอซึ่งผมก็ไม่สนใจ เมื่ออยู่หน้าเครื่องวิทยุผมก็ลืมปรับหน้าปัดวิทยุของผมไปฟัง อาจเป็นเพราะผมไม่ได้มีประเด็นร่วมและก็ไม่คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องฟังวิทยุชุมชนเพียงเพราะเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นเท่านั้นผมจึงไม่ค่อยเชื่อเท่าไรว่า เรื่อง 'พื้นที่' จะมีส่วนสำคัญในความเป็น 'ชุมชน' เสมอไป มากไปกว่าความหมายของชุมชนในแง่ของกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิด ความสนใจและประสบการณ์ร่วมกัน
เพื่อนๆ ของผมที่ทำงานเอดส์ก็มีส่วนหนึ่งที่ทำรายการวิทยุชุมชนอยู่แถวถนนรามคำแหง โดยทีมงานที่ทำมาจากพื้นเพที่หลากหลายในเมืองไทย แต่พวกเขายึดโยงกันด้วยเนื้อหาที่ต่อสู้ร่วมกันคือ เรื่องสิทธิของผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งประเด็นเด่นร้อนที่พวกเขาเสนอในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องนโยบายของประเทศไทยที่มีต่อการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี หรือ เอฟทีเอโดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิบัตรยา แต่ตามข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ของวิทยุชุมชนเขาสามารถส่งกระจายเสียงได้เฉพาะในรัศมีแคบๆโดยไม่มีหลักประกันว่าจะมีผู้ฟังที่สนใจในประเด็นที่เขาเสนอแต่ถ้าเขามีโอกาสกระจายเสียงทั่วประเทศเขาอาจได้แฟนประจำที่สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดจำนวนเป็นพันก็ได้ตอนหลังพอพวกเขาพูดเรื่องนี้มากๆ เข้า เรื่องสิทธิบัตรยาจึงไปกระเทือนต่อคลื่นวิทยุการบิน จน กทช.ก็ส่งหนังสือมาให้ระงับการออกอากาศเสีย
แต่เรื่องสั่งปิดวิทยุชุมชนไม่ใช่ประเด็นของผมในวันนี้ ผมกำลังมุ่งประเด็นที่ว่าสังคมไทยจะมีส่วนร่วมกับวิทยุชุมชนอย่างไร ทั้งนี้ผมให้ฐานะวิทยุชุมชนว่าเป็นสื่อที่ไม่ต่างจากสื่ออื่นๆที่จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีกลุ่มคนฟังที่เหนียวแน่นทว่าคนฟังของวิทยุชุมชนไม่ได้มีฐานะแบบผู้รับสื่อเชิงพาณิชย์อื่นๆที่มีหน้าที่เสพสื่อนั้นๆ เพื่อล่อให้ผู้สนับสนุนเข้ามาจ่ายเงินซื้อเวลาแต่คนฟังของวิทยุชุมชน เป็นแกนหลักสำคัญที่จะทำให้วิทยุชุมชนเข้มแข็ง
แต่คำถามคือ ทุกวันนี้นอกจากคนจัดวิทยุชุมชนแล้ว เรามีชุมชนที่ ติดตาม เข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังวิทยุชุมชนมากน้อยเพียงไร แล้วเมื่อวิทยุชุมชนถูกทำให้ตายไปมีชุมชนที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิหวงแหนคลื่นของพวกเขาหรือไม่ หรือผู้ที่เดือดร้อนยังคงเป็นคนที่อยากทำวิทยุชุมชนเท่านั้น
ดังนั้นเราอาจต้องมองคำว่า "วิทยุชุมชน" กว้างกว่าที่ผ่านมาและวิทยุชุมชนบางประเภทที่เกิดจากประเด็นร่วมมากกว่าภูมิศาสตร์ร่วมอาจต้องสามารถรับฟังได้ทั่วประเทศซึ่งหมายความว่าเราจะต้องคิดใหม่เรื่องวิธีการกระจายเสียงเช่นเน้นการกระจายเสียงทางอินเตอร์เนตเป็นต้น
ส่วนวิทยุชุมชนที่เป็นชุมชนร่วมทางภูมิศาสตร์ก็คงยังสามารถกระจายเสียงในระดับตำบลตามสูตร๓๐ วัตต์ คูณ ๓๐ เมตร ได้ และในบางพื้นที่อาจมีทั้งประเด็นร่วมและภูมิศาสตร์ร่วมเช่นในพื้นที่ที่ชาวบ้านกำลังต่อสู้ในเรื่องเดียวกัน อาทิคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าในชุมชนเป็นต้นแต่ก็ควรจะต้องแบ่งเวลาให้กับชาวบ้านส่วนที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าด้วยจริงหรือไม่?
เพื่อการมีพลังและความน่าสนใจของวิทยุชุมชนอาจจะต้องมีการเชื่อมกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งวิทยุชุมชนที่เป็นชุมชนประเด็นและที่เป็นชุมชนทางภูมิศาสตร์ เพื่อที่จะสามารถออกอากาศร่วมกันในโอกาสที่สำคัญ (คล้ายกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ)และเพื่อการแลกเปลี่ยนรายการให้มีทั้งคุณภาพและความหลากหลาย
ทั้งหมดที่ผมเสนอมานี้เป็นเรื่องที่เสนอมาเพื่อการพิจารณาขบคิดจะได้ไม่หมกมุ่นกับประเด็นอำนาจรัฐจนไม่คิดที่จะพัฒนาวิทยุชุมชนเมื่อพวกท่านได้รับฟังแล้วคิดเห็นอย่างไร
 
 
[ Back ]