มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ วันจันทร์ ๑๖ ส.ค.นี้ โปรดติดตามการพิจารณาของคณะทำงานวิทยุชุมชนฯ กทช. กรณีมูลนิธิเสียงธรรมฯ

วันจันทร์ ๑๖ ส.ค.นี้ โปรดติดตามการพิจารณาของคณะทำงานวิทยุชุมชนฯ กทช. กรณีมูลนิธิเสียงธรรมฯ

อีเมล พิมพ์ PDF

 

ที่พิเศษ ๑๙/๒๕๕๓ มูลนิธิเสียงธรรมฯ จ.อุดรธานี
วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง        ความเห็นของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ประกอบการพิจารณาขอรับใบอนุญาตชั่วคราว
เจริญพร   ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ / ประธานอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ / ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน
สิ่งที่ส่งมาด้วย   ๑. ตัวอย่างวิทยุชุมชนในออสเตรเลีย
   ๒.   กฎหมายเกี่ยวกับสื่อกระจายเสียงของประเทศออสเตรเลีย
 
ตามที่มูลนิธิฯ ได้เข้าพบอนุกรรมการฯ ท่านหนึ่ง ณ สำนักงานอัยการสูงสูด ถ.เจริญกรุง ๕๓ กรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อปัญหาของคณะทำงานฯ กรณีเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ๑๑๗ สถานี และได้ยื่นหนังสือที่พิเศษ ๑๘/๒๕๕๓ ลว. ๙ ส.ค.๒๕๕๓ พร้อมเอกสารสนับสนุนความเห็น เช่น แผนการดำเนินการเสนอต่อ กทช., ข้อคิดเห็นของมูลนิธิฯ, ร่างประกาศกทช.เกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นที่เสนอโดยมูลนิธิฯร่วมกับสภาทนายความ, บทความบริการสาธารณะ, วารสารกรมประชาสัมพันธ์ พ.ค. ๒๕๔๗ (วิทยุชุมชน), วิทยานิพนธ์วิทยุภาคประชาชนในประเทศไทยและทั่วโลก, การศึกษาวิทยุชุมชนในประเทศไทย, คู่มือวิทยุชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านอนุกรรมการฯ ยังได้ขอให้ส่งเอกสารโดยย่อตัวอย่างวิทยุชุมชนด้านศาสนาและด้านอื่นๆ รวมถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับสื่อกระจายเสียงของประเทศออสเตรเลีย จึงได้แนบเอกสารมาพร้อมนี้ (สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ และ ๒)
และตามที่สำนักงาน กทช. ได้แจ้งต่อมูลนิธิฯ ว่า สำนักงาน กทช.จะนำเสนอเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานฯ  ในวันจันทร์ที่ ๑๖ สิงหาคมนี้ มูลนิธิฯ จึงขอทบทวนประเด็นข้อเรียกร้องโดยย่อดังนี้
๑.    มูลนิธิฯ มีสิทธิรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนภาคประชาชนโดยสมบูรณ์ ไม่ควรผลักให้เป็นบริการสาธารณะภาครัฐประเภท ๑ ด้วยเหตุผลที่ว่า มาตรา ๑๐(๒) ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการบริการชุมชนต้องมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับบริการสาธารณะ และเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชน และโดยที่มูลนิธิมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่ง และมีองค์ประกอบของความเป็นวิทยุภาคประชาชนทั้งทางกฎหมาย วิชาการ และเทคนิค ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในลักษณะของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น (Issue-based Community Radio) มูลนิธิฯ จึงควรมีสิทธิได้รับใบอนุญาตบริการชุมชนชั่วคราวภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กทช. ในขณะนี้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา ๗๘ การผลักให้มูลนิธิฯ สมยอมเป็นบริการสาธารณะภาครัฐประเภทหนึ่งซึ่งยังมีประเด็นในรายละเอียดทั้งทางวิชาการและทางกฎหมายว่าด้วยเรื่อง “บริการสาธารณะ” อีกจำนวนมากหลายร้อยฉบับและจะต้องเป็นประเด็นให้ถกเถียงและตีความกันยิ่งกว่าเรื่อง “ชุมชนเชิงประเด็น” ซึ่งมีความชัดเจนแล้ว การผลักให้ไปอยู่ในภาครัฐจึงอาจเป็นเพียงการตีความกฎหมายเพื่อจะได้พ้นความรับผิดชอบจะไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ยังความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพระสงฆ์และประชาชนผู้ได้ประโยชน์จากการรับฟังซึ่งไม่อาจประมาณค่าได้
และในเมื่อการประกอบการ “บริการชุมชนภาคประชาชน” กับ “บริการสาธารณะภาครัฐ” ประเภทหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการศาสนาเช่นเดียวกัน ความแตกต่างอันเป็นสาระสำคัญจึงอยู่ที่ลักษณะของการประกอบการหรือองค์ประกอบของการก่อตั้งและการดำเนินการ เช่น ผู้ประกอบการเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นโดยหน้าที่ความจำเป็นหรือโดยประชาชน ผู้ใดรับผิดชอบ ผู้ใดถือสิทธิ ฯลฯ  ดังนั้นหากผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลในสังกัดของรัฐ เช่น วัด มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือแม้ว่าเป็น สมาคม มูลนิธิ แต่ขาดคุณลักษณะและขาดองค์ประกอบของการก่อตั้งและการดำเนินการที่มาจากประชาชนก็ควรจัดประเภทเป็น “บริการสาธารณะภาครัฐ” มิใช่ “บริการชุมชนภาคประชาชน”
๒.    มูลนิธิฯ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตของสถานีเครือข่ายทั้ง ๑๑๗ สถานี ด้วยเหตุผลที่ว่า ในมาตรา ๑๓ (๑) และ (๒) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ๒๕๕๑ ได้ชี้ชัดว่า ใบอนุญาตของนิติบุคคลภาคธุรกิจเพียง ๑ ราย สามารถมีสถานีในเครือข่ายได้หลายสถานี เพราะมีพื้นที่กระจายเสียงได้ทั่วประเทศ / กลุ่มจังหวัด / ในจังหวัด นั่นคือ นิติบุคคล ๑ รายมีสถานีในเครือข่ายได้มากกว่า ๑ สถานี ดังนั้น เมื่อกฎหมายใช้หลักการเดียวกัน มูลนิธิเสียงธรรมฯ ย่อมมีสิทธิได้รับใบอนุญาตของสถานีเครือข่ายทั้ง ๑๑๗ สถานีได้เช่นเดียวกัน
อีกประการหนึ่ง ในมาตรา ๒๙ ของกฎหมายฉบับเดียวกันชี้ชัดว่า ให้ผู้รับใบอนุญาต(ทั้งประเภทบริการสาธารณะ, บริการธุรกิจ และบริการชุมชน) แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย เป็นผู้อำนวยการสถานีประจำแต่ละสถานี นั่นคือ ผู้รับใบอนุญาตไม่ว่าประเภทใดเพียง ๑ รายสามารถมีสถานีได้มากกว่า ๑ สถานี โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นมีอำนาจเหนือผู้อำนวยการสถานีแต่ละสถานี เพื่อการกำกับดูแลสถานีในเครือข่ายให้เป็นไปวัตถุประสงค์ และโดยที่ประกาศกทช. ย่อมไม่ขัดกับบทบัญญัติในพ.ร.บ.ดังกล่าว มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงมีสิทธิได้รับใบอนุญาตชั่วคราวของสถานีเครือข่ายทั้ง ๑๑๗ สถานีได้เช่นเดียวกัน
๓.    มาตรฐานทางเทคนิคของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น มูลนิธิฯ เสนอให้กำหนดกำลังส่งตามบริบทของชุมชนเป็นสำคัญและพิจารณาเป็นรายๆ ไปเช่นเดียวกับในต่างประเทศหลายประเทศ คือ พิจารณาว่ากลุ่มผู้สนใจมีมากน้อยเพียงใด ประชาชนมีกำลังมากน้อยเพียงใด(การบริจาค) คลื่นย่านนั้นมีมากน้อยเพียงใด วันที่เริ่มก่อตั้ง (First-come first-served) ฯลฯ การกำหนดจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ถ้าควรใหญ่(ต้องการ ๑ กิโลวัตต์) จะตั้งกฎเกณฑ์บังคับให้เล็กก็ไม่สมควร หรือถ้าควรเล็ก(ต้องการเพียง ๕ วัตต์ จะตั้งเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวให้ใหญ่ถึง ๒๐๐ วัตต์) ก็ไม่สมควรเช่นกัน มูลนิธิฯ ต้องการมาตรฐานทางเทคนิคของแต่ละสถานีตามสภาพที่มีอยู่จริงขณะนี้ เครือข่ายของมูลนิธิฯ มีจำนวนไม่น้อยที่กำลังส่งต่ำกว่า ๒๐๐ วัตต์
หมายเหตุ การก่อตั้งสถานีในเครือข่าย มูลนิธิฯ จะตรวจสอบพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบเทียบกับกำลังส่งที่ใช้อย่างละเอียด เพื่อหาคลื่นความถี่ที่ว่าง หากภายหลังพบว่าไปรบกวนคลื่นผู้อื่น มูลนิธิฯ จะเปลี่ยนเบย์ให้สถานีนั้นๆ หรือปรับปรุงการส่งให้ได้มาตรฐานโดยเร็วต่อไป
๔.    เนื้อหาสาระรายการของมูลนิธิฯ เป็นไปตามความต้องการที่หลากหลายของชุมชน ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมด้านศาสนาเป็นประเด็นหลัก แต่เนื่องจากศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกเรื่องทุกปัญหาทุกเพศทุกวัย เนื้อหาสาระที่มูลนิธิฯ กระจายเสียงจึงมีหลายขั้นหลายภูมิ หลายระดับ หลายท้องถิ่น ด้วยความรู้ที่หลากหลาย(ในระดับพื้นฐานประชาชนจนถึงขั้นสูงตามบุคคลหรือหน่วยงานผู้เข้ามาเกี่ยวข้อง) เช่น ความรู้ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร สุขภาพ อนามัย ยาเสพติด ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐศาสตร์ การสงเคราะห์คนพิการคนด้อยโอกาส ระบอบประชาธิปไตย สิทธิของประชาชน กฎหมายบ้านเมือง ฯลฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯ มีเจตนารมณ์แน่วแน่ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง และไม่ให้ธุรกิจเข้ามาครอบงำโดยเด็ดขาด
ด้วยเนื้อหาสาระที่หลากหลายและเป็นประโยชน์สาธารณะต่อชุมชน และด้วยจำนวนสถานีเครือข่ายที่ประชาชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ แต่ละแห่ง สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างแท้จริง ผลการวิจัยยังพบด้วยว่าประชาชนผู้รับฟังในทุกพื้นที่มีจำนวนมากและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกสาขาอาชีพทุกเพศวัย และขณะนี้มีกลุ่มประชาชนอีกหลายแห่งยังได้แสดงความประสงค์ขอเข้าเป็นเครือข่ายวิทยุของมูลนิธิฯ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ข้อสังเกตุ กทช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์เคยให้ความเห็นกับมูลนิธิฯ ว่า ถึงแม้มูลนิธิฯ จะเน้นด้านศาสนาเป็นหลักแต่เนื้อหาก็มีความหลากหลาย มูลนิธิฯ ไม่ควรกังวลข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ท่านยังยกข้อสมมติด้วยว่าแม้รายการของสถานีมีหลวงตามหาบัวแสดงธรรมเพียงองค์เดียวก็ยังมีความหลากหลาย (ซึ่งความจริงแล้วมีพระสุปฏิปันโนหลายองค์) ท่านยังเปรียบง่ายๆ เหมือนกับการตั้งร้านขายก๊วยเตี๋ยว
๕.    เพิ่มรายการท้องถิ่น ตามที่คณะทำงานฯ เสนอให้มูลนิธิฯ ขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นของสถานีในเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสได้ใช้และเข้าถึงสื่อมากขึ้น มูลนิธิฯ จึงเพิ่มรายการ “ชุมชนเชิงประเด็น” ในเวลา ๑๗.๔๕-๑๘.๐๐ น. โดยนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมาออกอากาศตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นต้นไป ซึ่งการปรับผังรายการของมูลนิธิฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเพิ่มพื้นที่และโอกาสให้ประชาชนทุกคนในท้องถิ่นได้ใช้สื่อกระจายเสียงแล้ว ยังเป็นการแสดงความจริงใจและบริสุทธิ์ใจตอบรับข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ อีกด้วย
๖.     ผู้รับฟังเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ทั่วประเทศเป็นชุมชนเดียวกันเพราะเป็น “ชุมชนเชิงประเด็น” ความหมายนี้ได้รับการยืนยันจากเอกสารหลักฐานพร้อมคำพูดบุคคลจำนวนมาก (ได้จัดส่งและอ้างอิงหลายครั้งแล้ว) ทั้งทางวิชาการ ทางกฎหมาย และทางเทคนิค องค์กรกลางทางกฎหมายเช่นสภาทนายความยังยืนยันด้วยว่า “ชุมชน” มีความหมายอย่างกว้างและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่าด้วยเรื่อง สิทธิชุมชน ที่สำคัญในประกาศ กทช.เองก็ยังกำหนดนิยามให้มี “ชุมชนเชิงประเด็น” อีกด้วย ดังนั้น ชุมชนทุกพื้นที่ก็คือชุมชนเดียวกันและมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง การผลิตรายการ การกำหนดผังรายการ การดำเนินการ ฯลฯ  ร่วมกัน สถานีแม่ข่ายจึงทำหน้าที่เป็นเพียงศูนย์กลางของผลผลิตจากแต่ละพื้นที่ถ่ายทอดสัญญาณไปยังทุกสถานีถือเป็นการสร้างโครงข่ายพื้นฐาน การใช้และการเชื่อมต่อโครงข่ายของวิทยุภาคประชาชนเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชนที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายทุกภาคของประเทศนั่นเอง
ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของท่านครั้งนี้จึงมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่เสียสละลงทุนลงแรงก่อตั้งวิทยุด้วยความบริสุทธิ์ใจมานานหลายปี โดยเฉพาะประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นต่อประชาชนผู้รับฟังในทุกพื้นที่และทุกระดับชั้น ผลการตัดสินใจของท่านเป็นเบื้องต้นนี้จึงเท่ากับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่วิทยุภาคประชาชนทุกประเภทให้เกิดสัมฤทธิผลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงขอความอนุเคราะห์ดำเนินการเพื่อประชาชนด้วย จักอนุโมทนาขอบคุณยิ่ง
ขอเจริญพรมาพร้อมนี้  
(พระครูอรรถกิจนันทคุณ)
                                                                   
ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ