มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ สรุปข้อเรียกร้องต่อสนง.กทช. - ส่งความเห็นของท่านอ่านออกอากาศ..ที่นี่

สรุปข้อเรียกร้องต่อสนง.กทช. - ส่งความเห็นของท่านอ่านออกอากาศ..ที่นี่

อีเมล พิมพ์ PDF

 

"ท่านหรือบุคคลที่ท่านรู้จักได้รับประโยชน์จากการรับฟังสถานีวิทยุเสียงธรรมฯหรือไม่ อย่างไร"
สามารถส่งความคิดเห็นของท่านมาได้ที่ อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน  หรือแฟกซ์  042-214-114 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมความเห็นของท่านอ่านออกอากาศในรายการ "ชุมชนเชิงประเด็น" ติดตามรับฟังได้ทุกวัน เวลา ๑๗.๔๕ น.โดยประมาณ
 

*******************************************************************************************************
ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ ในนาม "สภาผู้ฟังวิทยุเสียงธรรม"  ยื่นหนังสือต่อ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์   เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง และ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ "วิทยุชุมชนเชิงประเด็น"    
*******************************************************************************************************
 

 

คลิกดูรายละเอียดที่นี่

 

 
*******************************************************************************************************
ต่อไปนี้เป็นหนังสือข้อเสนอของมูลนิธิเสียงธรรมฯ-ประชาชนผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ฟังวิทยุเสียงธรรมทั่วประเทศ ถึง สำนักงาน กทช.
*******************************************************************************************************
 
 
ที่พิเศษ ๑๙/๒๕๕๓                                                                              มูลนิธิเสียงธรรมฯ จ.อุดรธานี
วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง        ความเห็นของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ประกอบการพิจารณาขอรับใบอนุญาตชั่วคราว
เจริญพร   ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ / ประธานอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ / ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน
สิ่งที่ส่งมาด้วย   ๑. ตัวอย่างวิทยุชุมชนในออสเตรเลีย
   ๒.   กฎหมายเกี่ยวกับสื่อกระจายเสียงของประเทศออสเตรเลีย
 
ตามที่มูลนิธิฯ ได้เข้าพบอนุกรรมการฯ ท่านหนึ่ง ณ สำนักงานอัยการสูงสูด ถ.เจริญกรุง ๕๓ กรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อปัญหาของคณะทำงานฯ กรณีเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ๑๑๗ สถานี และได้ยื่นหนังสือที่พิเศษ ๑๘/๒๕๕๓ ลว. ๙ ส.ค.๒๕๕๓ พร้อมเอกสารสนับสนุนความเห็น เช่น แผนการดำเนินการเสนอต่อ กทช., ข้อคิดเห็นของมูลนิธิฯ, ร่างประกาศกทช.เกี่ยวกับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นที่เสนอโดยมูลนิธิฯร่วมกับสภาทนายความ, บทความบริการสาธารณะ, วารสารกรมประชาสัมพันธ์ พ.ค. ๒๕๔๗ (วิทยุชุมชน), วิทยานิพนธ์วิทยุภาคประชาชนในประเทศไทยและทั่วโลก, การศึกษาวิทยุชุมชนในประเทศไทย, คู่มือวิทยุชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านอนุกรรมการฯ ยังได้ขอให้ส่งเอกสารโดยย่อตัวอย่างวิทยุชุมชนด้านศาสนาและด้านอื่นๆ รวมถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับสื่อกระจายเสียงของประเทศออสเตรเลีย จึงได้แนบเอกสารมาพร้อมนี้ (สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ และ ๒)
และตามที่สำนักงาน กทช. ได้แจ้งต่อมูลนิธิฯ ว่า สำนักงาน กทช.จะนำเสนอเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานฯ  ในวันจันทร์ที่ ๑๖ สิงหาคมนี้ มูลนิธิฯ จึงขอทบทวนประเด็นข้อเรียกร้องโดยย่อดังนี้
๑.    มูลนิธิฯ มีสิทธิรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนภาคประชาชนโดยสมบูรณ์ ไม่ควรผลักให้เป็นบริการสาธารณะภาครัฐประเภท ๑ ด้วยเหตุผลที่ว่า มาตรา ๑๐(๒) ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการบริการชุมชนต้องมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับบริการสาธารณะ และเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชน และโดยที่มูลนิธิมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่ง และมีองค์ประกอบของความเป็นวิทยุภาคประชาชนทั้งทางกฎหมาย วิชาการ และเทคนิค ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในลักษณะของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น (Issue-based Community Radio) มูลนิธิฯ จึงควรมีสิทธิได้รับใบอนุญาตบริการชุมชนชั่วคราวภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กทช. ในขณะนี้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา ๗๘ การผลักให้มูลนิธิฯ สมยอมเป็นบริการสาธารณะภาครัฐประเภทหนึ่งซึ่งยังมีประเด็นในรายละเอียดทั้งทางวิชาการและทางกฎหมายว่าด้วยเรื่อง “บริการสาธารณะ” อีกจำนวนมากหลายร้อยฉบับและจะต้องเป็นประเด็นให้ถกเถียงและตีความกันยิ่งกว่าเรื่อง “ชุมชนเชิงประเด็น” ซึ่งมีความชัดเจนแล้ว การผลักให้ไปอยู่ในภาครัฐจึงอาจเป็นเพียงการตีความกฎหมายเพื่อจะได้พ้นความรับผิดชอบจะไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ยังความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพระสงฆ์และประชาชนผู้ได้ประโยชน์จากการรับฟังซึ่งไม่อาจประมาณค่าได้
และในเมื่อการประกอบการ “บริการชุมชนภาคประชาชน” กับ “บริการสาธารณะภาครัฐ” ประเภทหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการศาสนาเช่นเดียวกัน ความแตกต่างอันเป็นสาระสำคัญจึงอยู่ที่ลักษณะของการประกอบการหรือองค์ประกอบของการก่อตั้งและการดำเนินการ เช่น ผู้ประกอบการเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นโดยหน้าที่ความจำเป็นหรือโดยประชาชน ผู้ใดรับผิดชอบ ผู้ใดถือสิทธิ ฯลฯ  ดังนั้นหากผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลในสังกัดของรัฐ เช่น วัด มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือแม้ว่าเป็น สมาคม มูลนิธิ แต่ขาดคุณลักษณะและขาดองค์ประกอบของการก่อตั้งและการดำเนินการที่มาจากประชาชนก็ควรจัดประเภทเป็น “บริการสาธารณะภาครัฐ” มิใช่ “บริการชุมชนภาคประชาชน”
๒.    มูลนิธิฯ มีสิทธิได้รับใบอนุญาตของสถานีเครือข่ายทั้ง ๑๑๗ สถานี ด้วยเหตุผลที่ว่า ในมาตรา ๑๓ (๑) และ (๒) ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ๒๕๕๑ ได้ชี้ชัดว่า ใบอนุญาตของนิติบุคคลภาคธุรกิจเพียง ๑ ราย สามารถมีสถานีในเครือข่ายได้หลายสถานี เพราะมีพื้นที่กระจายเสียงได้ทั่วประเทศ / กลุ่มจังหวัด / ในจังหวัด นั่นคือ นิติบุคคล ๑ รายมีสถานีในเครือข่ายได้มากกว่า ๑ สถานี ดังนั้น เมื่อกฎหมายใช้หลักการเดียวกัน มูลนิธิเสียงธรรมฯ ย่อมมีสิทธิได้รับใบอนุญาตของสถานีเครือข่ายทั้ง ๑๑๗ สถานีได้เช่นเดียวกัน
อีกประการหนึ่ง ในมาตรา ๒๙ ของกฎหมายฉบับเดียวกันชี้ชัดว่า ให้ผู้รับใบอนุญาต(ทั้งประเภทบริการสาธารณะ, บริการธุรกิจ และบริการชุมชน) แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย เป็นผู้อำนวยการสถานีประจำแต่ละสถานี นั่นคือ ผู้รับใบอนุญาตไม่ว่าประเภทใดเพียง ๑ รายสามารถมีสถานีได้มากกว่า ๑ สถานี โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นมีอำนาจเหนือผู้อำนวยการสถานีแต่ละสถานี เพื่อการกำกับดูแลสถานีในเครือข่ายให้เป็นไปวัตถุประสงค์ และโดยที่ประกาศกทช. ย่อมไม่ขัดกับบทบัญญัติในพ.ร.บ.ดังกล่าว มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงมีสิทธิได้รับใบอนุญาตชั่วคราวของสถานีเครือข่ายทั้ง ๑๑๗ สถานีได้เช่นเดียวกัน
๓.    มาตรฐานทางเทคนิคของวิทยุชุมชนเชิงประเด็น มูลนิธิฯ เสนอให้กำหนดกำลังส่งตามบริบทของชุมชนเป็นสำคัญและพิจารณาเป็นรายๆ ไปเช่นเดียวกับในต่างประเทศหลายประเทศ คือ พิจารณาว่ากลุ่มผู้สนใจมีมากน้อยเพียงใด ประชาชนมีกำลังมากน้อยเพียงใด(การบริจาค) คลื่นย่านนั้นมีมากน้อยเพียงใด วันที่เริ่มก่อตั้ง (First-come first-served) ฯลฯ การกำหนดจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ถ้าควรใหญ่(ต้องการ ๑ กิโลวัตต์) จะตั้งกฎเกณฑ์บังคับให้เล็กก็ไม่สมควร หรือถ้าควรเล็ก(ต้องการเพียง ๕ วัตต์ จะตั้งเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวให้ใหญ่ถึง ๒๐๐ วัตต์) ก็ไม่สมควรเช่นกัน มูลนิธิฯ ต้องการมาตรฐานทางเทคนิคของแต่ละสถานีตามสภาพที่มีอยู่จริงขณะนี้ เครือข่ายของมูลนิธิฯ มีจำนวนไม่น้อยที่กำลังส่งต่ำกว่า ๒๐๐ วัตต์
หมายเหตุ การก่อตั้งสถานีในเครือข่าย มูลนิธิฯ จะตรวจสอบพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบเทียบกับกำลังส่งที่ใช้อย่างละเอียด เพื่อหาคลื่นความถี่ที่ว่าง หากภายหลังพบว่าไปรบกวนคลื่นผู้อื่น มูลนิธิฯ จะเปลี่ยนเบย์ให้สถานีนั้นๆ หรือปรับปรุงการส่งให้ได้มาตรฐานโดยเร็วต่อไป
๔.    เนื้อหาสาระรายการของมูลนิธิฯ เป็นไปตามความต้องการที่หลากหลายของชุมชน ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมด้านศาสนาเป็นประเด็นหลัก แต่เนื่องจากศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกเรื่องทุกปัญหาทุกเพศทุกวัย เนื้อหาสาระที่มูลนิธิฯ กระจายเสียงจึงมีหลายขั้นหลายภูมิ หลายระดับ หลายท้องถิ่น ด้วยความรู้ที่หลากหลาย(ในระดับพื้นฐานประชาชนจนถึงขั้นสูงตามบุคคลหรือหน่วยงานผู้เข้ามาเกี่ยวข้อง) เช่น ความรู้ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร สุขภาพ อนามัย ยาเสพติด ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐศาสตร์ การสงเคราะห์คนพิการคนด้อยโอกาส ระบอบประชาธิปไตย สิทธิของประชาชน กฎหมายบ้านเมือง ฯลฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯ มีเจตนารมณ์แน่วแน่ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง และไม่ให้ธุรกิจเข้ามาครอบงำโดยเด็ดขาด
ด้วยเนื้อหาสาระที่หลากหลายและเป็นประโยชน์สาธารณะต่อชุมชน และด้วยจำนวนสถานีเครือข่ายที่ประชาชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ แต่ละแห่ง สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างแท้จริง ผลการวิจัยยังพบด้วยว่าประชาชนผู้รับฟังในทุกพื้นที่มีจำนวนมากและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกสาขาอาชีพทุกเพศวัย และขณะนี้มีกลุ่มประชาชนอีกหลายแห่งยังได้แสดงความประสงค์ขอเข้าเป็นเครือข่ายวิทยุของมูลนิธิฯ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ข้อสังเกตุ กทช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์เคยให้ความเห็นกับมูลนิธิฯ ว่า ถึงแม้มูลนิธิฯ จะเน้นด้านศาสนาเป็นหลักแต่เนื้อหาก็มีความหลากหลาย มูลนิธิฯ ไม่ควรกังวลข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ท่านยังยกข้อสมมติด้วยว่าแม้รายการของสถานีมีหลวงตามหาบัวแสดงธรรมเพียงองค์เดียวก็ยังมีความหลากหลาย (ซึ่งความจริงแล้วมีพระสุปฏิปันโนหลายองค์) ท่านยังเปรียบง่ายๆ เหมือนกับการตั้งร้านขายก๊วยเตี๋ยว
๕.    เพิ่มรายการท้องถิ่น ตามที่คณะทำงานฯ เสนอให้มูลนิธิฯ ขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นของสถานีในเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสได้ใช้และเข้าถึงสื่อมากขึ้น มูลนิธิฯ จึงเพิ่มรายการ “ชุมชนเชิงประเด็น” ในเวลา ๑๗.๔๕-๑๘.๐๐ น. โดยนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมาออกอากาศตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นต้นไป ซึ่งการปรับผังรายการของมูลนิธิฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเพิ่มพื้นที่และโอกาสให้ประชาชนทุกคนในท้องถิ่นได้ใช้สื่อกระจายเสียงแล้ว ยังเป็นการแสดงความจริงใจและบริสุทธิ์ใจตอบรับข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ อีกด้วย
๖.     ผู้รับฟังเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ทั่วประเทศเป็นชุมชนเดียวกันเพราะเป็น “ชุมชนเชิงประเด็น” ความหมายนี้ได้รับการยืนยันจากเอกสารหลักฐานพร้อมคำพูดบุคคลจำนวนมาก (ได้จัดส่งและอ้างอิงหลายครั้งแล้ว) ทั้งทางวิชาการ ทางกฎหมาย และทางเทคนิค องค์กรกลางทางกฎหมายเช่นสภาทนายความยังยืนยันด้วยว่า “ชุมชน” มีความหมายอย่างกว้างและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่าด้วยเรื่อง สิทธิชุมชน ที่สำคัญในประกาศ กทช.เองก็ยังกำหนดนิยามให้มี “ชุมชนเชิงประเด็น” อีกด้วย ดังนั้น ชุมชนทุกพื้นที่ก็คือชุมชนเดียวกันและมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง การผลิตรายการ การกำหนดผังรายการ การดำเนินการ ฯลฯ  ร่วมกัน สถานีแม่ข่ายจึงทำหน้าที่เป็นเพียงศูนย์กลางของผลผลิตจากแต่ละพื้นที่ถ่ายทอดสัญญาณไปยังทุกสถานีถือเป็นการสร้างโครงข่ายพื้นฐาน การใช้และการเชื่อมต่อโครงข่ายของวิทยุภาคประชาชนเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชนที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายทุกภาคของประเทศนั่นเอง
ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของท่านครั้งนี้จึงมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่เสียสละลงทุนลงแรงก่อตั้งวิทยุด้วยความบริสุทธิ์ใจมานานหลายปี โดยเฉพาะประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นต่อประชาชนผู้รับฟังในทุกพื้นที่และทุกระดับชั้น ผลการตัดสินใจของท่านเป็นเบื้องต้นนี้จึงเท่ากับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่วิทยุภาคประชาชนทุกประเภทให้เกิดสัมฤทธิผลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงขอความอนุเคราะห์ดำเนินการเพื่อประชาชนด้วย จักอนุโมทนาขอบคุณยิ่ง
ขอเจริญพรมาพร้อมนี้  
(พระครูอรรถกิจนันทคุณ)
                                                                   
ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ

********************************************************************************************************************************

ตัวแทนประชาชนผู้ก่อตั้งและผู้ฟังวิทยุเสียงธรรมฯ ทั่วประเทศเข้ายื่นหนังสือต่อคณะทำงานฯกทช. ดังนี้

********************************************************************************************************************************
>
  
ที่พิเศษ ๒๐/๒๕๕๓                                                                              มูลนิธิเสียงธรรมฯ จ.อุดรธานี
วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง         แนวทางการกำหนดมาตรฐานเทคนิควิทยุชุมชนเชิงประเด็น (๓.๓.๔ วิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ)
เรียน         ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ / ประธานอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ / ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน
สิ่งที่ส่งมาด้วย   ๑. วิทยานิพนธ์เรื่อง “A Future for Community Radio in Australia: Funding, licensing and legislative issues” ของ Saba El-Ghaul, Queensland University of Technology, 2004
                        . Review of Broadcasting Legislation on “Community Broadcasting Association of Australia Submission to the Productivity Commission
                        . Broadcasting Services Act 1992 ของประเทศออสเตรเลีย
                        ข้อมูลของ Christian Media Australia (http://christianmedia.org.au/)
                        ข้อมูลของ Vision Radio Network (http://www.vision.org.au/aboutus.htm)
                        ๖. ข้อเรียกร้องของมูลนิธิเสียงธรรมฯ
 
ตามที่คณะทำงานฯ จะพิจารณาแบบขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม นั้น เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานเทคนิควิทยุชุมชนเชิงประเด็น (๓.๓.๔ วิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ) เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  จึงขอยกตัวอย่างวิทยุชุมชนเชิงประเด็นในต่างประเทศที่คล้ายคลึงกับเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ดังนี้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่สนองประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนในเชิงประเด็นพบได้ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิตาลี (เอกสารแนบฉบับที่ ๑) โดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลียได้มีการพัฒนารูปแบบสถานีวิทยุที่เรียกว่า Special Interest Community Station ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๕ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุที่สนองประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนในเชิงประเด็นหรือสิ่งที่กลุ่มประชาชนในหลายๆ พื้นที่ให้ความสนใจร่วมกัน จนกระทั่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนในเชิงประเด็นดังกล่าวหลายสถานีได้พัฒนาขึ้นเป็นสถานีวิทยุชุมชนระดับชาติอาทิเช่น (๑) National Ethnic and Multicultural Broadcasters Association (NEMBC), (๒) National Indigenous Media Association of Australia (NIMAA), (๓) Radio for the Print Handicapped Australia (RPHA) และ (๔) Australian Christian Broadcasters (ACB) (เอกสารแนบฉบับที่ ๑ และ ๒)
การพัฒนาของสถานีวิทยุชุมชนในเชิงประเด็นเหล่านี้สามารถพัฒนาเป็นสถานีวิทยุชุมชนระดับชาติ เนื่องจากว่า กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของประเทศออสเตรเลีย (Broadcasting Services Act 1992) ไม่ได้ปิดกั้นแต่ส่งเสริมการพัฒนาสถานีวิทยุชุมชนในเชิงประเด็น ดังจะเห็นได้จากการกำหนดลักษณะพิเศษเฉพาะของชุมชนในเชิงประเด็นชัดเจนใน Part 2 (Categories of Broadcasting Services) ในมาตรา ๑๗ และ ๑๘ (Section 17--Subscription Narrowcasting Services; Section18--Open Narrowcasting Services) (เอกสารแนบฉบับที่ ๓) นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้ยังได้ออกแบบเพื่อป้องกันการรุกรานของสถานีวิทยุทางธุรกิจต่อสถานีวิทยุชุมชน (เอกสารแนบฉบับที่ ๒)
สำหรับ Australian Christian Broadcasters (ACB) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิทยุชุมชนเชิงประเด็นด้านศาสนา เนื่องจากเป็นกลุ่มสถานีวิทยุชุมชนของประชาชนชาวคริสเตียนซึ่งประกอบไปด้วยสถานีวิทยุชุมชน ๒ ประเภทคือ สถานีวิทยุชุมชนอิสระ (Independent Community Stations) ที่มีระบบการทำงานเป็นเอกเทศเฉพาะตนเอง และสถานีวิทยุชุมชนระบบเครือข่าย (Network Community Stations) ตัวอย่างของวิทยุชุมชนระบบเครือข่ายคือ Vision Radio Networkซึ่งเป็นสถานีวิทยุชุมชนระดับชาติโดยมีสถานีแม่ข่ายที่ Brisbane เพื่อที่จะส่งสัญญาณให้กับสถานีวิทยุชุมชนลูกข่ายที่อยู่ในเครือข่ายทั้งหมดมากกว่า ๔๓ สถานี กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศออสเตรเลีย Vision Radio Network ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงจำนวน ๔๓๕ ใบอนุญาต ประกอบด้วยใบอนุญาตที่กำหนดความแรงของสัญญาณของเครื่องส่งสัญญาณที่มีกำลังคลื่นพาห์สูงถึง ๕,๐๐๐ วัตต์ จำนวน ๓๕ ใบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการส่งสัญญาณ (เอกสารแนบฉบับที่ ๔ และ ๕)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จากตัวอย่างของสถานีวิทยุชุมชนเชิงประเด็นระบบเครือข่ายเช่น Vision Radio Network จะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุชุมชนดังกล่าวมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ เป็นอย่างมาก คือ(๑) เป็นสถานีวิทยุชุมชนเชิงประเด็นที่สนองประโยชน์ตามความต้องการของประชาชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาเดียวกัน (๒) เป็นสถานีวิทยุชุมชนระบบเครือข่ายที่สถานีลูกข่ายรับสัญญาณจากแม่ข่าย
 
โดยที่ประกาศ กทช. ข้อ ๓.ได้กำหนดลักษณะทางเทคนิคของวิทยุชุมชน โดยกำหนดความแรงของสัญญาณ (Field Strength) โดยรอบบริเวณจากจุดที่ตั้งเสาอากาศเป็นระยะ ๓, ๕ และ ๑๕กิโลเมตร ตามลำดับ ซึ่งสามารถสนองประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนที่รับบริการในเชิงพื้นที่เท่านั้น หากแต่ไม่สนองประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนเชิงประเด็น แต่อย่างไรก็ตาม ในประกาศฉบับนี้ก็ยังยอมรับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นด้วย จึงกำหนดคำนิยาม ชุมชน ไว้อย่างครอบคลุมและกำหนดมาตรฐานเทคนิค ๓..สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเป็นกรณีไป มูลนิธิฯ จึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางกทช. จะเล็งเห็นความสำคัญของวิทยุชุมชนเชิงประเด็นที่สามารถสนองประโยชน์ตามความต้องการของประชาชนได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และคำนึงถึงประโยชน์อันมิอาจประมาณค่าได้ที่ประชาชนในหลายพื้นที่ร่วมกันก่อตั้งวิทยุชุมชนเชิงประเด็นด้านศาสนาขึ้น เพื่อหวังจะได้ยินได้ฟังธรรมและหวังให้ชาวไทยเจริญด้วยศีลด้วยธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
และในการประชุมวาระสำคัญต่อมูลนิธิฯ ครั้งนี้ ประชาชนผู้เสียสละช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองอย่างเต็มกำลังมากว่า ๗ ปีโดยไม่หวังค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว ต่างร่วมใจกันทำหนังสือฉบับนี้มาถึงท่านในฐานะภาครัฐผู้ใช้ภาษีอากรของประชาชนในการดำเนินการ โปรดให้การสนับสนุนด้วย(เอกสารแนบฉบับที่ ๖) ดังนี้
๑.   พิจารณาออกใบอนุญาตให้สถานีวิทยุทั้ง ๑๑๒ แห่งของมูลนิธิฯ (ซึ่งรวมถึงสถานีที่ได้ลงทะเบียนแล้วและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องส่งสัญญาณที่มีกำลังคลื่นพาห์สูง)
๒.   สนับสนุนให้เป็นสถานีวิทยุชุมชนระบบเครือข่าย (Network Community Stations) ที่สมบูรณ์
จึงเรียนมาเพื่อขอความอนุเคราะห์ด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ 
 
(ศาสตราจารย์ ดร.รัตนา ศิริพานิช)
ประธานที่ปรึกษามูลนิธิเสียงธรรมฯ และ
ผู้แทนประชาชนผู้ก่อตั้งและผู้รับฟังวิทยุเสียงธรรมทั่วประเทศ
 

ข้อเรียกร้องของมูลนิธิเสียงธรรมฯ  ในการพิจารณาขอรับใบอนุญาต

    ประเด็นข้อเรียกร้อง

 
เหตุผลโดยย่อ (เอกสารรายละเอียดจัดส่ง สนง.กทช.แล้ว)
 
     1. มูลนิธิฯ มีสิทธิรับใบอนุญาตชั่ว
         คราวทั้ง ๑๑๗ สถานีเครือข่าย
·     พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ๒๕๕๑ มาตรา ๒๙ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต (ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน) ต้องแต่งตั้งบุคคลเป็นผู้อำนวยการสถานีประจำแต่ละสถานี แสดงว่าผู้รับใบอนุญาตรายเดียวมีสถานีในเครือข่ายได้หลายสถานี
·     มาตรา ๑๓(๑) และ (๒) นิติบุคคล ๑ รายมีสถานีเครือข่ายได้หลายแห่งทั่วประเทศ กฎหมายใช้หลักการเดียวกันกับภาครัฐภาคประชาชน
·     คณะกรรมการ กทช. / คณะอนุกรรมการฯ / คณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ตามบทเฉพาะกาล มาตรา ๗๘, ๗๙ ในระหว่างไม่มี กสทช. ต้องดำเนินการให้วิทยุกระจายเสียงชุมชนรับ “ใบอนุญาตบริการชุมชนเป็นการชั่วคราว” ไปพลางก่อน
 
 
     2. มูลนิธิฯ เป็น “บริการชุมชนภาค
        ประชาชน” โดยสมบูรณ์ ไม่ควร
        ผลักไสให้เป็น “บริการสาธารณะ
        ภาครัฐ”
·     พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ๒๕๕๑ มาตรา ๑๐(๒) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนต้องมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับบริการสาธารณะ และเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชน ซึ่งเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ มีองค์ประกอบของความเป็นวิทยุภาคประชาชนประเภท Issue base โดยสมบูรณ์ทั้งทางวิชาการ กฎหมาย และเทคนิค มีผู้ศึกษาวิจัยและมีกรณีตัวอย่างมากมายทั้งในและต่างประเทศ
·     Issue-based Community Radio ถูกจัดเข้าเป็น “บริการสาธารณะภาครัฐ” ได้จริงหรือไม่? ยังมีข้อโต้เถียงในทางวิชาการและกฎหมายว่าด้วยเรื่อง “บริการสาธารณะ” อีกมาก และหาก กสทช. ตีความไปอีกแบบหนึ่ง คณะกรรมการ กทช.จะรับผิดชอบอย่างไร?
 
 
     3. ขอให้กำหนดมาตรฐานเทคนิค
         วิทยุชุมชนลักษณะเฉพาะเป็น
         รายสถานีไป โดยคำนึงถึง
         บริบทของชุมชนเป็นสำคัญ
 
·     วิทยุชุมชนที่มาลงทะเบียน(ที่ไม่ใช่ธุรกิจไม่ใช่รัฐ) และมีเนื้อหาเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนจริงทั้งแบบ Area base และ Issue base ควรได้ใบอนุญาตชั่วคราว โดยต้องคำนึงถึงหลัก First come First serve ของวันเริ่มออกอากาศที่ไม่รบกวนใครด้วย
·     มาตรฐานเทคนิคของวิทยุชุมชนลักษณะเฉพาะ จะมีกำลังส่งมากหรือน้อย? ควรพิจารณาเป็นรายสถานีโดยคำนึงถึงบริบทของชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ใช้กันในหลายประเทศ และหากนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้กับเครือข่าย ๑๑๗ สถานี มาตรฐานเทคนิคของแต่ละสถานีย่อมแตกต่างกันไปตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ (กำลังส่งไม่มากขึ้นและไม่น้อยลงกว่าเดิม)
 
 
     4. รายการของมูลนิธิฯ มีสาระ
        ประโยชน์ตามความต้องการที่
        หลากหลายของชุมชนจริง
 
 
·     แม้นำเสนอประเด็นด้านศาสนาเป็นสำคัญ แต่ศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ เนื้อหารายการจึงให้ความรู้ที่หลากหลาย เช่น การศึกษา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม เกษตร สุขภาพ อนามัย ยาเสพติด ขนบประเพณี วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัย เศรษฐศาสตร์ สิทธิประชาชน ประชาธิปไตย ฯลฯ นอกจากนี้ ประชาชนผู้ก่อตั้ง ผู้รับผิดชอบ และผู้ฟังของแต่ละท้องถิ่นก็มีความหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงยืนยันได้ว่า เครือข่ายวิทยุมูลนิธิฯ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชนได้จริง
·     กทช.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชนเคยให้ความเห็นในประเด็นนี้กับมูลนิธิฯ ว่า ไม่ต้องกังวลในข้อกฎหมาย
 
 
     5. มูลนิธิฯ เพิ่มรายการท้องถิ่น เพื่อ
         ให้ชุมชนแต่ละท้องถิ่นมีโอกาส
         ใช้สื่อ
 
 
·     ตามที่สนง.กทช.ได้ให้คำแนะนำ มูลนิธิฯ จึงขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น โดยเพิ่มรายการเพื่อให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นมีโอกาสใช้สื่อของสถานีได้ด้วยตนเอง