มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอทราบความคืบหน้าการพิจารณาของสำนักงาน กทช.( 3 กันยายน 2553 )

ขอทราบความคืบหน้าการพิจารณาของสำนักงาน กทช.( 3 กันยายน 2553 )

อีเมล พิมพ์ PDF

ที่พิเศษ ๓๑/๒๕๕๓                                                                             มูลนิธิเสียงธรรมฯ จ.อุดรธานี

วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง          ขอทราบความคืบหน้าการพิจารณาอย่างเป็นทางการ
เรียน         ท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 
ตามที่สำนักงาน กทช. ประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศ กทช. ฉบับใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว(วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ภายในวันที่ ๔ กันยายนนี้นั้น มูลนิธิฯ พิจารณาแล้ว ประกอบกับได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งจากคณะกรรมการ กทช.  คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ  และ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กทช. ทราบว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้จะคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม มีความเหมาะสมด้วยข้อมูลที่รอบด้าน และจะคุ้มครองสิทธิการรับฟังข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ จะไม่บังคับใช้แบบเถรตรงตามตัวอักษร การรับรองจากผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงนี้ ทำให้มูลนิธิฯ รู้สึกคลายความกังวลใจและไม่ติดใจในร่างประกาศฯ ฉบับนี้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการ กทช. ครั้งที่ ๒๕/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ซึ่งปฏิเสธข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรวิทยุภาคประชาชนแห่งชาติว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) เนื่องจากยังไม่มีปัญหาจากการบังคับใช้ ประกอบกับประกาศ กทช. ดังกล่าว ออกมาตามกระบวนการที่ชอบแล้ว โดยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหลายครั้ง และมีการอ้างอิงมาตรฐานทางเทคนิคและมาตรฐานโลกที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพัน นั้น มติดังกล่าวทำให้เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมและประชาชนผู้ติดตามเรื่องได้สอบถามมายังมูลนิธิฯ หนักขึ้น โดยมูลนิธิฯ ไม่สามารถชี้แจงถึงความล่าช้าหรือยกเหตุผลที่ชอบธรรมมาแก้ต่างแทนสำนักงาน กทช. เพื่อคลายความกังวลให้เครือข่ายและประชาชนได้เลย
เพื่อเปิดโอกาสให้เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมและประชาชนได้มีส่วนร่วม และเพื่อให้มูลนิธิฯ ได้มีส่วนอำนวยความสะดวกแก่สำนักงาน กทช.  ในการสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายฯ และพี่น้องประชาชน จึงขอความอนุเคราะห์จากสำนักงาน กทช. กรุณาตอบข้อกังวลอย่างเป็นทางการ ดังนี้
๑.มูลนิธิฯ ร่วมกับสภาทนายความเคยเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว(สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน) ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๒ และมีเนื้อหาเช่นเดียวกับเครือข่ายองค์กรวิทยุและโทรทัศน์ภาคประชาชนแห่งชาติ แต่จนบัดนี้มูลนิธิฯ ยังไม่ได้รับผลการพิจารณาของสำนักงาน กทช.แต่อย่างใด ทั้งที่เครือข่ายวิทยุของมูลนิธิฯ ต้องประสบกับปัญหาการบังคับใช้ของประกาศฉบับนี้ในส่วนมาตรฐานเทคนิคของวิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะเชิงประเด็นโดยตรง  สำนักงาน กทช. ต้องการปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวของมูลนิธิฯ หรือมีทางออกอื่นที่เหมาะสมและรวดเร็วกว่า ขอความอนุเคราะห์ให้รายละเอียดด้วย
๒.คณะกรรมการ กทช. ได้พิจารณาแนวทางออกใบอนุญาตให้มูลนิธิฯ โดยมีมติครั้งที่ ๔๓/๒๕๕๒ ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้มีการกำหนดนิยามขอบเขตในเชิงประเด็นสำหรับกิจการวิทยุชุมชน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมทางเทคนิคให้ชัดเจน โดยจัดสรรงบประมาณให้มีการศึกษาวิจัยควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในเรื่องนี้สำนักงาน กทช. ดำเนินการไปคืบหน้าเพียงใด มีกำหนดแล้วเสร็จเมื่อใด
๓.สำนักงาน กทช.จะนำมาตรฐานทางเทคนิคท้ายประกาศกทช.ฉบับดังกล่าว(กทช.ผว.๐๐๑-๒๕๕๒) ในข้อ ๓.๓.๔ ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ มาใช้พิจารณาในการออกใบอนุญาตแก่เครือข่ายวิทยุของมูลนิธิฯ ซึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ กทช.กำหนดได้หรือไม่    หรือ   คณะกรรมการ กทช.จะต้องตราประกาศ กทช.ฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่องวิทยุชุมชนเชิงประเด็นขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตสำหรับวิทยุชุมชนเชิงประเด็นซึ่งมีกฎหมายรับรองไว้แล้ว หากยังขาดเพียงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต
๔.สำนักงาน กทช.ทราบดีแล้วว่า วิทยุชุมชนเชิงประเด็นมีจริงทั้งในทางวิชาการ ทางกฎหมาย และทางเทคนิค เนื่องจากมีเอกสารยืนยันจำนวนมาก อีกทั้งการกระจายเสียงก็มีมานานแล้วในสังคมไทย ที่สำคัญนิยามของประกาศ กทช.ก็ยังรับรองไว้  ขณะนี้การบังคับใช้ประกาศผ่านพ้นกำหนดหนึ่งปีแล้วพบว่าการบังคับใช้มีปัญหากระทบกับผู้ประกอบการบริการชุมชน(ภาคประชาชน) ประเภทเชิงประเด็นและผู้รับฟังจำนวนมาก ทำไมไม่ใช้อำนาจพิจารณาทบทวนตามข้อ ๑๗ แห่งประกาศ กทช.เข้าแก้ปัญหา หรือมีหนทางแก้ปัญหาอื่นที่สิ้นเปลืองบุคคลากร ค่าใช้จ่าย เวลา และกระทบกับสิทธิของประชาชนน้อยกว่า กรุณาให้รายละเอียดด้วย
จึงเจริญพรมาเพื่อขอความอนุเคราะห์ตอบข้อกังวลอย่างเป็นทางการด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอเจริญพรมาพร้อมนี้
 
(พระครูอรรถกิจนันทคุณ)
                   ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ