มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ แถลงการณ์ชี้แจงความจริง กรณีมีบางกลุ่มสนับสนุน กสทช.

แถลงการณ์ชี้แจงความจริง กรณีมีบางกลุ่มสนับสนุน กสทช.

อีเมล พิมพ์ PDF

 

แถลงการณ์ฉบับที่ ๑
เรื่อง ชี้แจงความจริงกรณีมีกลุ่มคนสนับสนุน กสทช.
ตามที่มีกลุ่มคนในนามสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พร้อมตัวแทนองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เข้ายื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาเพื่อคัดค้านการยื่นถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ ๑ พ.ย. ๒๕๕๕ ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน โดยกลุ่มคนดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตุว่า “การยื่นถอดถอน กสทช. ทั้ง ๑๑ คน นำโดยนายสุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ เกิดขึ้นหลังจากจัดการประมูล ๓ จี เพียงแค่ ๒ วัน แต่กลับรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ถึงกว่า ๕ หมื่นรายชื่อได้ จึงมีข้อพิรุธว่ามีการเตรียมการมาก่อนหรือไม่ นอกจากนี้มีผู้ประกอบการบางกลุ่มบางคณะ สร้างเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเองที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยเฉพาะระเบียบหรือหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายที่ กสทช. ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งและโปร่งใส รวมทั้งการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วทุกภูมิภาคก่อนจะออกประกาศ กลุ่มคนดังกล่าวจึงพร้อมให้การสนับสนุน กสทช. ทั้ง ๑๑ คนได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงทุกกลุ่มทุกองค์กรปฏิบัติตามกฎระเบียบและประกาศของ กสทช.” นั้น
ข้าพเจ้าในนามกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปสื่อซึ่งเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อถอดถอน กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า กลุ่มคนดังกล่าวเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่บริสุทธิ์จำนวนมากที่ใช้สิทธิโดยชอบในการถอดถอน กสทช. ที่แม้แต่คณะสงฆ์ฝ่ายกรรมฐานยังมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ลงนิคคกรรมคว่ำบาตรเพราะปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อพระธรรมวินัย จารีตประเพณี และกฎหมาย จึงขอชี้แจงความจริงดังต่อไปนี้
๑.    การรวบรวมรายชื่อประชาชนปกป้องวิทยุเสียงธรรมและคัดค้านประกาศ กสทช. ที่กระทบต่อการรับฟังวิทยุเพื่อธรรมะและเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น เริ่มต้นเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเพียง ๑๐ วัน มีมากถึง ๑๕๑,๗๖๗ รายชื่อ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของประชาชนอย่างแท้จริงเพราะมาจากทุกภาคส่วนที่กว้างขวางยิ่งกว่า กสทช. จัดขึ้นที่มีผู้รับรู้ในวงจำกัด ซึ่ง กสทช. ควรต้องทบทวนการออกประกาศฉบับดังกล่าวในทันที แต่เมื่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน กสทช. ได้ฝ่าฝืนกระแสประชาชนโดยลงนามในประกาศเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๕  ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ในนามตัวแทนผู้สูงวัย นักวิชาการ สตรี ผู้พิการ ผู้ป่วย ข้าราชการ เยาวชน และภาคเอกชน ที่ถูกผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. จึงใช้สิทธิตามกฎหมายแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๕ โดยได้ระบุในเอกสารด้วยว่า สำหรับการกระทำและพฤติการณ์อื่นๆ ของ กสทช. ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในประเด็นอื่นๆ  ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ จะได้รวบรวมนำเสนอในชั้นส่งรายชื่อประชาชนผู้ประสงค์ให้ถอดถอน กสทช. ต่อไป และหลังจากนั้นเพียง ๑ เดือน ๕ วัน ก็สามารถรวบรวมได้มากถึง ๕๗,๙๐๔ รายชื่อ โดยเข้ายื่นต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ มิใช่การรวบรวมเพียง ๒ วัน อย่างที่กลุ่มคนดังกล่าวได้ให้ข่าวไว้
๒.   ก่อนการยื่นถอดถอน กสทช. ราว ๑ สัปดาห์ ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ได้ประกาศทางสื่อมวลชนหลายแขนงเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ถูกกระทบจาก กสทช. แจ้งข้อมูลมาที่อีเมล์ อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน เพื่อจะได้รวมเรื่องยื่นต่อประธานวุฒิสภาต่อไป และเมื่อ กสทช. จัดประมูล ๓ จี ก็ปรากฏว่ามีกลุ่มคนหลายกลุ่มได้ทักท้วงในประเด็นอันเป็นสาระสำคัญ อาทิ ทำความเสียหายแก่รัฐมูลค่ามหาศาล ไม่มีหลักประกันว่าพื้นที่บริการจะครอบคลุมประชาชนในเขตที่ด้อยโอกาสกว่าด้วยราคาที่เข้าถึงได้ วิธีการประมูลไม่ชอบธรรม หรือกฎเกณฑ์การประมูลยังเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเอื้อเฉพาะรายใหญ่รายเดิมแต่ไม่เอื้อแก่ผู้ประกอบการรายเล็กและกลางให้เข้ามาแข่งขัน คล้ายกรณีวิทยุกระจายเสียง ดังนั้น เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะของประชาชนและชาติ ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ จึงต้องใช้สิทธิโดยชอบพิจารณาในประเด็นดังกล่าวด้วย
๓.   ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ขอขอบพระคุณด้วยใจจริงที่สมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และตัวแทนองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ซึ่งกล่าวยืนยันว่า พร้อมยินดีปฏิบัติตามประกาศ กสทช. โดยเคร่งครัดแม้จะจำกัดรัศมีกระจายเสียง ๒๐ กม. ด้วยกำลังส่งไม่เกิน ๕๐๐ วัตต์ เสาสูงไม่เกิน ๖๐ เมตร นับเป็นความเสียสละเพื่อส่วนรวมในลักษณะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ขอใช้สิทธิ์โดยชอบตามรัฐธรรมนูญในการคัดค้านประกาศ กสทช. ดังกล่าวที่ไม่เป็นธรรมทั้งแก่ผู้รับฟังและผู้ประกอบการวิทยุทุกกลุ่มที่ทำเพื่อการเผยแผ่ธรรมะหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นโดยไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ เพราะวิทยุเหล่านี้ล้วนทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้สังคม และประชาชนผู้สนับสนุนก็ล้วนเป็นผู้เสียสละทั้งเวลาและทรัพย์สินของตนออกเป็นธรรมทานและเป็นวิทยาทาน นับเป็นความเสียสละประโยชน์ตนเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่กลับไม่ได้รับสิทธิที่ทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายเดิมที่ส่วนใหญ่ไม่ทำประโยชน์คุ้มกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัด โดย กสทช. ไม่มีการจำกัดรัศมีกระจายเสียง ไม่จำกัดกำลังส่งและเสาสูงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการทั้ง ๒ กลุ่มอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ส่งผลกระทบประโยชน์ที่ควรมีควรได้ของประชาชน
๔.   ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ เห็นว่าหากสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และตัวแทนองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ มีความจริงใจทำเพื่อประชาชนและเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริงโดยไม่มีนัยยะอื่นแอบแฝง ต้องออกมาเรียกร้องให้ กสทช. ทำความเสมอภาคระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ให้ปรากฏ การออกมาคัดค้านข้าพเจ้าและกลุ่มฯ โดยไม่พยายามกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำดังกล่าวซึ่งมีสาเหตุมาจากการเอื้อประโยชน์อย่างเต็มที่ของ กสทช. เช่นนี้ ถือเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เพียงมีข้อพิรุธเท่านั้น แต่เป็นการเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมและไม่น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง และเมื่อข้อเรียกร้องได้หยิบยกเอาประเด็น ๓ จี มาเป็นเหตุคัดค้านข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ด้วยแล้วยิ่งถือว่าผิดปกติ ขาดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนที่รักความเป็นธรรม
๕.   ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ขอน้อมนำพระพุทธพจน์ที่กล่าวเปรียบการกระทำของมนุษย์ส่วนมากมักนำไปสู่ทุคติและอบายภูมิจำนวนเหลือคณานับเปรียบเสมือน “ขนโค” ส่วนผู้ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่นำไปสู่สุคติภูมิมีจำนวนน้อยมากเปรียบกับ “เขาโค” ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวของสมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และตัวแทนองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ที่อ้างว่าคนส่วนมากเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของตนทั้งที่ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ มายืนยันแก่สาธารณชนซึ่งแตกต่างจากข้าพเจ้าและกลุ่มฯ จึงเป็นการกล่าวอ้างแบบเลื่อนลอย
อนึ่ง การถือเอาคนส่วนใหญ่มาเป็นข้อเรียกร้องนั้นใช้ได้เป็นบางเรื่อง แต่ไม่สามารถทำสิ่งผิดธรรมให้กลายเป็นความถูกต้องได้ สิ่งนี้เป็นการชี้ชัดอีกข้อหนึ่งถึงความไม่เข้าใจหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ ความมากจะถือเป็นประมาณไม่ได้หากปราศจากธรรม องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านเปรียบเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “ธนบัตรแท้เพียงใบเดียวมีคุณค่ากว่าธนบัตรปลอมเป็นแสนเป็นล้านใบ เพราะนำไปจับจ่ายใช้สอยได้จริง แม้เก็บไว้ก็เป็นหลักประกันได้ ต่างจากธนบัตรปลอม” ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับวิทยุประเภทอื่นเทียบเท่ากับวิทยุเพื่อการเผยแผ่ศาสนธรรมเช่นนี้ย่อมเป็นการประกาศถึงวุฒิภาวะและวิสัยทัศน์ของตนที่ควรได้รับการฟื้นฟูด้านพระพุทธศาสนาโดยเร็ว
การออกมาเรียกร้องให้วิทยุเพื่อการเผยแผ่ศาสนธรรมปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ที่ต้องลดกำลังส่งให้ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายเดิมที่เน้นแต่ธุรกิจเพลงเช่นนี้ ยิ่งมีประชาชนออกมาเรียกร้องมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นการสะท้อนกลับไปกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. มากขึ้น ให้ต้องเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรบุคคลในชาติให้ตระหนักและเห็นความสำคัญในสถาบันหลักของชาติกว่าที่เป็นอยู่มากขึ้นไปอีก โดยต้องเร่งส่งเสริมวิทยุเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกกลุ่มให้ได้รับสิทธิทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายเดิมโดยเร็ว จึงจะเป็นการแก้ปัญหามิจฉาทิฏฐิและความตกต่ำด้านศีลธรรมของประชาชนในชาติ และหาก กสทช. เองก็ยังไม่เห็นคุณค่า ปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นผู้คัดเลือก กสทช. เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนกระทบต่อพระพุทธศาสนา และยิ่งต้องทำหน้าที่แทนประชาชนด้วยการถอดถอนบุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐิใน กสทช. ออกจากตำแหน่งเพื่อจะได้หา กสทช. ชุดใหม่ที่เหมาะสมและเป็นธรรมเข้าทดแทน
๖.    ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ ได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากผู้รักชาติถึงความไม่โปร่งใส ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถึงขั้นมีผลให้ กสทช. ทั้งคณะเป็นโมฆะในทันทีที่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เนื่องจากในภาคผนวก ฉ มีสถานีวิทยุในสังกัดของสำนักงาน กสทช. เสียเอง จำนวน ๖ สถานี ได้รับการรับรองจาก กสทช. ให้เป็นสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาต คือ ความถี่วิทยุ ๙๘.๕ และ ๑๐๖.๕ กรุงเทพมหานคร, ๘๙.๐ จ.ภูเก็ต, ๙๐.๐๐ จ.ลำปาง, ๙๙.๐ จ.อุดรธานี และ ๑๐๒.๐ จ.อุบลราชธานี
การที่ กสท. มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใดๆ แทน กสทช. โดยออกประกาศที่มีผลให้สำนักงาน กสทช. ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธาน กสทช. ตามมาตรา ๓๗ และ ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นสถานีวิทยุที่ได้รับอนุญาตนั้น ย่อมขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจาก กสทช. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ไม่สามารถอนุญาตให้สำนักงานภายใต้การกำกับดูแลของตนเป็นผู้ประกอบกิจการโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้สำนักงานของตนปฏิบัติหน้าที่ถึง ๒ บทบาท คือ Regulator และ Operator ซึ่งเป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเนื่องด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ กสทช. เป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง (Conflict of Interest) เปรียบเสมือนการเป็นนักกีฬาเข้าแข่งขันในเกมกีฬาในขณะเดียวกันก็เป็นกรรมการผู้ตัดสินกีฬาชนิดนั้นๆ อีกด้วยจึงเป็นเกมส์กีฬาที่ไม่เป็นธรรมเพราะกรรมการสามารถให้คะแนนชี้ถูกชี้ผิดเพิ่มคะแนนตัดคะแนนเพื่อตนเองได้หรือกลั่นแกล้งคู่แข่งขันได้จึงเป็นบทบาทที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และหากมีประชาชนได้พยายามทักท้วง กสทช. อย่างเป็นทางการแล้วยังเพิกเฉยไม่ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวในทันทีย่อมมีผลให้การปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของ กสทช. ในเรื่องอื่นๆ กลายเป็นโมฆะไปด้วย
ข้าพเจ้าและกลุ่มฯ จึงขอแถลงการณ์ชี้แจงความจริงจากกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นการปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพโดยชอบของประชาชนและยังประโยชน์สาธารณะอันยิ่งใหญ่แก่ส่วนรวมโดยเร็วสมกับการที่ประชาชนทั้งประเทศเฝ้ารอคอยการปฏิรูปสื่ออย่างยาวนานกว่า ๒๐ ปี
 
(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์)
เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก กสทช.
๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕