มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ แถลงการณ์ ๑ - ขอสนับสนุนตรวจสอบ กสทช. ให้การจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อพิทักษ์สถาบันหลักของชาติ

แถลงการณ์ ๑ - ขอสนับสนุนตรวจสอบ กสทช. ให้การจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อพิทักษ์สถาบันหลักของชาติ

อีเมล พิมพ์ PDF

 

แถลงการณ์จากศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ฉบับที่ ๑
เรื่อง ขอสนับสนุนการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. อย่างเข้มข้น
เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่ ใช้เพื่อพิทักษ์สถาบันหลักของชาติ
มิใช่เพียงเพื่อสนองกิเลสตัณหาและเงินตราเท่านั้น
          ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศของสำนักงาน กสทช.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดประมูลคลื่น ๓จี ความถี่ ๒.๑ กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศที่เกี่ยวข้องการออกใบอนุญาตให้ใช้ คลื่น ๓ จีและให้ชะลอการอนุญาต โดย กสทช.อ้างว่า ถ้านำเทคโนโลยี ๓ จีมาใช้ล่าช้าออกไปอีก ๑ปี จะเกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๗๖,๙๕๐ ล้านบาท และมีสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการออกมติมหาเถรสมาคมเพื่อรับรองรายชื่อสถานีวิทยุเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาจำนวน ๔๐๑ สถานี เพื่อยื่นจดทะเบียนและขออนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. โดยจะปฏิบัติตามระเบียบของ กสทช. และ มติของมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัดนั้น
          ศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ขอตั้งข้อสังเกตว่า
๑.    สื่อมวลชนบางแห่งระบุว่าสถานีวิทยุจำนวน ๔๐๑ ราย ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเถรสมาคมที่มุ่งดำเนินงานเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของ กสทช.ที่ออกเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ อย่างเคร่งครัดหากหมายถึงการลดกำลังส่งสถานีวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนาให้เหลือเพียง ๕๐๐ วัตต์ลดความสูงเสาเหลือ ๖๐ เมตรและลดรัศมีกระจายเสียงเหลือ ๒๐ กม. ในขณะที่สถานีวิทยุรายเดิมเพื่อธุรกิจการบันเทิงกสทช. กลับเอื้อให้ใช้กำลังส่งได้มากถึง ๒๐,๐๐๐วัตต์โดยไม่จำกัดเสาสูงและรัศมีกระจายเสียงแต่อย่างใดสิ่งนี้ย่อมเป็นการประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างเป็นทางการว่า กสทช. ชุดปัจจุบันไม่เอื้อเฟื้อต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการลดโอกาสพัฒนาทางศีลธรรมของประชาชนในชาติ และมีนโยบายเพื่อปิดกั้นขัดขวางการรับฟังและปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวไทยอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาชาติไทย
๒.   เทคโนโลยี ๓ จีที่มีอยู่ใช้แล้วในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์การสื่อสารโทรคมนาคมที่เอื้อต่อธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระดับหนึ่งแล้ว หากปล่อยให้เอกชนเพียงไม่กี่รายสามารถตักตวงประโยชน์จากกฎระเบียบที่ไม่โปร่งใส ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในสายตาประชาชนว่า กสทช. เอื้อให้เอกชนนำสมบัติชาติมูลค่ามหาศาลไปทำกำไรเข้าธุรกิจเฉพาะตนด้วยเงินลงทุนที่ต่ำและไม่ใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หากสังคมยอมรับการฮั้วเช่นนี้และขัดขวางการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ย่อมเป็นการ สร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่เลวร้ายต่อลูกหลานชาวไทยให้ขวนขวายกอบโกยความมั่งคั่งจากสมบัติของชาติ โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่า
๓.   จากการสัมมนา “๓จี.....อนาคตหลังศาลปกครอง” จัดโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าเมื่อวันที่ ๒๑ พ.ย. ๒๕๕๕ นายเจอร์ราด โปโกเรียล นักวิชาการโทรคมนาคมชาวฝรั่งเศส ได้ระบุในกรณีประมูล ๓ จีของไทยว่า“รัฐต้องกำกับดูแลการแข่งขันให้มากขึ้น” แสดงให้เห็นว่า การประมูล ๓ จีที่ผ่านไปนั้น ยังมีการแข่งขันที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
๔.   ศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับคณะทำงานติดตาม กสทช.(NBTC Watch)ของศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน ภายใต้สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในการจัดทำรายงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสื่อของชาติถึงแม้ว่า กสทช.จะอ้างว่า แหล่งข้อมูลที่ได้มาจากเว็บไซต์ของ กสทช. ไม่มีความถูกต้องข้อแก้ตัวของ กสทช. กลับยิ่งทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ กสทช. ว่า ไม่สามารถหาสาระข้อเท็จจริงใด ๆ จาก กสทช.ได้ ไม่ว่าจะโดยทางวาจา หรือทางลายลักษณ์อักษรที่เผยแพร่ต่อสาธารณะจากเว็บไซต์ของ กสทช.เอง
          ท้ายที่สุดนี้ ศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อขอเรียกร้องให้มีการติดตามตรวจสอบ กสทช. อย่างเข้มข้น จากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางจริยธรรม เพื่อให้การสื่อสารของชาติ เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะแห่งมหาชนอย่างแท้จริง และประการสำคัญที่สุด เพื่อให้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติได้รับการจัดสรรเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติอย่างแท้จริง มิใช่เพียงเพื่อสนองกิเลสตัณหาและเงินตราเท่านั้น
 
                                      (นางสาวจุฑารส     พรประสิทธิ์)
                                       ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ
                                                      ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕