มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ ข้อมูลสำคัญจากมูลนิธิฯ

ข้อมูลสำคัญจากมูลนิธิฯ

อีเมล พิมพ์ PDF

มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน  

                                                              จังหวัดอุดรธานี
                                         วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
เรื่อง      ข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาต กรณีเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ
เจริญพร  ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
อ้างถึง    หนังสือพระธรรมวิสุทธิมงคล ที่พิเศษ ๐๔๐/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
 
ตามที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมีหนังสือฉบับแรกเจริญพรถึงท่านประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนในประเด็นต่างๆ ต่อเมื่อมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้เข้าหารือผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านและหลายหน่วยงาน และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเป็นธรรมและรอบด้าน จึงมีความชัดเจนทั้งในแง่มุมของกฎหมาย เทคนิค วิชาการด้านสื่อสารมวลชนและสังคมวิทยา กรณีศึกษาของวิทยุภาคประชาชนในต่างประเทศ ตลอดถึงหลักการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
เพื่อให้คณะกรรมการฯ มองภาพรวมของมูลนิธิเสียงธรรมฯ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงและเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล โดยยึดเอาประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นไปตามต้องการของประชาชนในทุกระดับชั้น ทุกสาขาอาชีพ ทุกภาค ฯลฯ มูลนิธิเสียงธรรมฯ ขอสรุปสาระสำคัญประกอบการพิจารณาให้ใบอนุญาตของคณะกรรมการฯ ดังต่อไปนี้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณา กรณีเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ
เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ เป็นสถานีวิทยุที่มุ่งเน้นการกระจายเสียงพระธรรมเทศนาของพระกรรมฐานผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรู้จริงเห็นจริงทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติจากทั่วประเทศจำนวน ๒๖ รูป อาทิเช่น หลวงปู่บุดดา ถาวโร จ.สิงห์บุรี, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จ.สุรินทร์, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร, ท่านพ่อลี ธัมมธโร จ.สมุทรปราการ, หลวงปู่สิม พุทธาจาโร จ.เชียงใหม่, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จ.อุดรธานี, หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท จ.จันทบุรี, พระอาจารย์ชา สุภัทโท จ.อุบลราชธานี, หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้เนื้อหาด้านธรรมะแล้ว ยังกระจายเสียงให้ความรู้ด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น ชีวประวัติพระมหากษัตริย์ไทย ประวัติบุคคลสำคัญของชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไทย บทเพลงที่เป็นคติ ข่าวสารบ้านเมือง ฯลฯ และยังเชื่อมสัญญาณจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในวันสำคัญ
ปัจจุบันมีสถานีในเครือข่ายกว่า ๑๑๗ สถานี กระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศไทย
 
ลักษณะการดำเนินการ
·       เป็นสถานีวิทยุที่ก่อตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ (มูลนิธิเสียงธรรมฯหรือหลวงตาฯ มิใช่ผู้ลงทุน)
·       ประชาชนช่วยกันบริจาคและแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ
·       ประชาชนพร้อมใจกันถวายสถานีวิทยุแด่ “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” เพื่อขอเป็นสถานีลูกข่ายรับสัญญาณ ๑๐๐ % โดยหลวงตาฯเมตตาแต่งตั้งคณะกรรมการ “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคต่างๆ ทำหน้าที่บริหารจัดการแทน
·       เนื่องจากมูลนิธิฯ คำนึงถึงความแตกต่างของผู้ฟังเกี่ยวกับ ชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์ อายุ สถานะ เพศ วัย การศึกษา อาชีพ ความสนใจ และสภาพปัญหา มูลนิธิฯ จึงกำหนดเนื้อหาและรูปแบบของรายการธรรมะให้หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับชั้น ส่งผลให้จำนวนผู้ฟังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
·       เพื่อให้นโยบายและการดำเนินการเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะด้านคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ประชาชนจึงพร้อมใจกันคัดเลือกผู้แทนแต่ละจังหวัดเข้าเป็นสมาชิก “เครือข่ายผู้ฟังวิทยุเสียงธรรม” ตามหลักการ Self Regulation เพื่อตรวจสอบ ประเมินผล และเฝ้าระวังการกระจายเสียงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในการก่อตั้ง และเพื่อให้เกิด Co-Regulation อันเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่การกำกับดูแลของ กทช.
·       ในการก่อตั้งสถานีวิทยุแต่ละแห่ง จะใช้กำลังส่งมากหรือน้อยเพียงใด ต้องไม่รบกวนคลื่นวิทยุที่มีอยู่เดิม และต้องไม่รบกวนวิทยุการบิน ข้อปฏิบัติที่ผ่านมานั้นหากมีข้อผิดพลาดที่เกิดจากทางสถานี คณะกรรมการของสถานีลูกข่ายฯแต่ละแห่งจะรีบแก้ไขในทันที
·       “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” เป็นเพียงองค์กรกลางที่มาจากผู้แทนประชาชนของทุกภาค เนื้อหาการกระจายเสียงเป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
 
ข้อพึงระวัง
          ด้วยลักษณะการประกอบการทั้งระบบเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จึงกล่าวได้ว่า “เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ” เป็นไปตามหลักการของ “วิทยุภาคประชาชน” อย่างแท้จริงที่มุ่งหมายให้การดำเนินการเป็นอิสระจากรัฐและทุนทางธุรกิจ ดังนั้น แนวคิดที่ออกแบบให้เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ เป็น “บริการสาธารณะ ภาครัฐ” จึงขัดต่อความเป็นจริงและขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของประชาชน
          การที่ประชาชนตื่นตัวเพื่อดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะนับเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปสื่อ และการที่ประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมะและยินดีที่จะบริจาคเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ชุมชนของตนนับเป็นเรื่องที่ควรยินดีและควรให้การสนับสนุนโดยเร็ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญมากกว่าการนำคลื่นมาเพื่อการเก็งกำไรหรือการทำธุรกิจ การกล่าวว่าคลื่นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จะถูกต้องที่สุดที่จะต้องนำสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มิใช่เพื่อเปิดทางให้แก่การเก็งกำไรหรือการค้าซึ่งอาจไม่เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงขอประชาชนเลยก็ได้
 
สิ่งที่ประชาชนขอความอนุเคราะห์จาก กทช.
เพื่อให้มีสถานะทัดเทียมกับวิทยุคลื่นหลักที่ได้รับความคุ้มครองตามบทเฉพาะกาล มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงขอความอนุเคราะห์จากกทช. รับรองสถานะทางกฎหมาย โดยยึดหลักแห่งความเสมอภาค ดังนี้
๑.    เนื่องจาก “มูลนิธิเสียงธรรมฯ” เป็น “วิทยุภาคประชาชน” ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ และเป็นการประกอบกิจการ “บริการชุมชน” ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งคำว่า “ชุมชน” มีความหมายครอบคลุมชุมชนเชิงประเด็นด้วย (Issue Based Community Radio)
จึงขอความอนุเคราะห์จาก กทช. พิจารณาดำเนินการให้ “ใบอนุญาตชั่วคราว” (แก่เครือข่าย ๑๑๗ สถานี) ตามมาตรฐานทางเทคนิคประเภท วิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ” ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตฯ (วิทยุกระจายเสียงชุมชน)
๒.     เนื่องจากประชาชนพร้อมใจกันมอบสถานีลูกข่ายทั้ง ๑๑๗ แห่ง ถวายแด่หลวงตาฯ ดังนั้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงทำหน้าที่ขอยื่นแบบ “ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาต” ของแต่ละสถานีทั้ง ๑๑๗ สถานี โดยใช้หลักการเดียวกับภาคธุรกิจในมาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ พ.ศ. ๒๕๕๑  นั่นคือ นิติบุคคลรายเดียวสามารถรับใบอนุญาตเพื่อให้มีพื้นที่บริการครอบคลุมได้ทั่วประเทศ (หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจรายเดียวมีสถานีลูกข่ายได้หลายแห่ง)
 
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 

จึงเจริญพรมาเพื่อแสดงภาพรวมของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ไว้ใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ และขอความอนุเคราะห์ให้ความเป็นธรรมตามที่ร้องขอและตามเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของพระสงฆ์และประชาชนจากทั่วประเทศด้วย จักอนุโมทนาสาธุการและขอบคุณมาก 

 
     ขอเจริญพรมาพร้อมนี้ 

                                                 (พระครูอรรถกิจนันทคุณ) 
                                                กรรมการมูลนิธิเสียงธรรมฯ
                                         ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมฯ