มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน

You are here: หน้าหลัก ข่าวสารมูลนิธิเสียงธรรมฯ เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ วิทยุภาคประชาชนระดับชาติ

เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ วิทยุภาคประชาชนระดับชาติ

อีเมล พิมพ์ PDF

                        เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ วิทยุภาคประชาชนระดับชาติ (ตอน ๓)   (๒๒พ.ย.๕๒)

              สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เริ่มประกอบกิจการกระจายเสียงตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ โดยประชาชนได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น ณ สวนแสงธรรม ถนนพุทธมณฑลสาย ๓ กรุงเทพมหานคร  และพร้อมใจกันอาราธนาพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ขึ้นเป็นองค์ประธาน เพื่อขอให้ท่านเมตตากำหนดนโยบายและวางผังรายการธรรมะ จากนั้นประชาชนในจังหวัดต่างๆ ก็ได้ก่อตั้งสถานีวิทยุขึ้นมาภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยประชาชนในจังหวัดนั้น และมีเจตนารมณ์ตรงกันว่า ขอมอบสถานีวิทยุนี้ถวายแด่พระธรรมวิสุทธิมงคล ซึ่งมอบหมายให้มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ประกอบกิจการเครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน โดยเป็นสถานีลูกข่ายรับสัญญาณ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จากวัดป่าบ้านตาด เพื่อถ่ายทอดพระธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์พระกรรมฐานองค์สำคัญจากทั่วประเทศไทยกว่า ๒๐ องค์ ออกกระจายเสียงเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้มีหลักธรรมเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวในชีวิต  จนถึงปัจจุบันนี้ สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ มีเครือข่ายกระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศจำนวนมากถึง ๑๑๗ สถานี
ตลอดระยะเวลากว่า ๕ ปี สถานีวิทยุเสียงธรรมฯพร้อมเครือข่าย ได้ดำเนินการด้วยเจตนารมณ์ที่มั่นคงแน่วแน่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แสวงหารายได้จากการโฆษณาและไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง โดยประชาชนจากทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย การก่อตั้งและกำหนดผังรายการเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน เนื่องจากมีความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์ อายุ อาชีพการงาน  สภาพปัญหา ตลอดจนความสนใจในเนื้อหาของธรรมะ  ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้รับฟังมีหลักธรรมเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจและเป็นเข็มทิศทางเดินของชีวิตที่ถูกต้องดีงาม และด้วยการดำเนินการที่มาจากความเสียสละและสามัคคีของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนจากทั่วประเทศเช่นนี้ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ เป็นสถานีวิทยุ “ภาคประชาชน ในระดับชาติ” อย่างแท้จริง
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่า “ชุมชน” ก็มีส่วนทำให้คนในสังคมเกิดความสับสนในความหมายของคำว่า “ชุมชน” ว่าจะมีความหมายกว้างหรือแคบเพียงใด มูลนิธิเสียงธรรมฯจึงเข้าหารือต่อท่านผู้รู้และต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งก็ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทุกภาคส่วนทั้งในด้านกฎหมาย ด้านวิชาการ และด้านเทคนิค ว่ามีความหมายอย่างกว้างทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงประเด็น ครอบคลุมถึงกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจในประเด็นหนึ่งประเด็นใดร่วมกัน ไม่ว่าจะอยู่อาศัยในตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค หรือแม้จะอยู่กระจัดกระจายห่างไกลกันออกไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยก็ตาม ก็ถือว่าเป็น “ชุมชน” เดียวกันได้ เพราะมีความสนใจในประเด็นเดียวกัน จึงเป็นการยืนยันในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับคลื่นความถี่ทุกฉบับ ล้วนมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกันในอันที่จะให้ “วิทยุชุมชน” หรือ “วิทยุภาคประชาชน” สามารถประกอบกิจการได้ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น โดยมีพื้นที่กระจายเสียงในรัศมีที่ทัดเทียมกับผู้ประกอบกิจการประเภทอื่น
อย่างไรก็ตาม แม้คำว่า “วิทยุชุมชน” จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทุกภาคส่วนว่ามีความหมายอย่างกว้างแล้วก็ตาม แต่ความวิตกกังวลของประชาชนทั่วประเทศก็มิอาจเบาบางลงไปได้ เมื่อพบว่าร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯสภาผู้แทนราษฎร มีถ้อยคำในบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งในประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า “วิทยุกระจายเสียงชุมชนในเชิงประเด็น” นั้นมีลักษณะอย่างไร มีขอบเขตการกระจายเสียงได้กว้างไกลสอดคล้องกับคำนิยามเพียงใด และเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญหรือไม่
เพื่อเป็นการคุ้มครองการรับฟังธรรมะของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศและเป็นการรักษาสิทธิของ “วิทยุภาคประชาชน” ให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ว มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี พร้อมกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศจึงได้เข้าร้องต่อหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในประเด็นสำคัญ ดังนี้
            ข้อเรียกร้องที่ ๑. มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ร้องขอต่อรัฐบาลและรัฐสภาในการพิจารณาร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยขอให้ยกเลิกคำว่า “ชุมชนท้องถิ่น” และใช้คำว่า “ชุมชน” แทน เนื่องจากคำว่า “ชุมชนท้องถิ่น” มีความหมายอย่างแคบ ซึ่งจะทำให้สถานีวิทยุ ส่งกระจายเสียงได้เฉพาะในหมู่บ้านหรือตำบลเท่านั้น นอกจากนี้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยังขอให้เพิ่มคำนิยามว่า “ภาคประชาชน” เพื่อต้องการให้กฎหมายมีความชัดเจนว่า วิทยุภาคประชาชนสามารถมีสถานีวิทยุในเครือข่ายได้เช่นเดียวกับภาครัฐและภาคธุรกิจ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อความเสมอภาค และเพื่อให้เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ สามารถกระจายเสียงธรรมะได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ
ผลสรุปขณะนี้ของข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน และจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งทางสถานีขออนุโมทนาและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
สำหรับข้อเรียกร้องที่ ๒. มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ร้องขอต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยขอให้แก้ไขปรับปรุงประกาศของ กทช. ให้ระบุคำนิยามของ “วิทยุกระจายเสียงชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ” ให้มีความชัดเจนว่า เป็น “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” ที่สามารถกระจายเสียงได้ในระดับชาติ หรือระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนที่อาศัยอยู่ในสถานที่ อาชีพ วัย สภาพปัญหาและความสนใจที่มีความแตกต่างกัน แต่มีความสนใจในประเด็นหนึ่งประเด็นใดร่วมกัน ซึ่งจะมีผลให้เครือข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมฯ ได้รับใบอนุญาตชั่วคราว และสามารถกระจายเสียงพระธรรมเทศนาตามความต้องการของชุมชนผู้สนใจในธรรมได้อย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงาน กทช. เพื่อให้ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ขณะนี้ประเทศไทยมี “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” เกิดขึ้นแล้ว และจัดเป็น “วิทยุภาคประชาชน” ประเภทหนึ่งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสื่อสารมวลชนและหลักกฎหมาย โดยมีตัวอย่างกรณีศึกษาจำนวนมากจากนานาอารยะประเทศ มีประเทศอังกฤษ และออสเตรเลีย เป็นต้น “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” นี้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินการของเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯอย่างสมบูรณ์
เพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้รับฟังทั่วประเทศได้รับทราบถึงความคืบหน้าในข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่า จะยอมรับพิจารณาตามความเป็นจริงที่ประชาชนร้องขอหรือไม่ หรือจะยังคงปล่อยให้เครือข่ายวิทยุเสียงธรรมฯ ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่ชัดเจนของประกาศของ กทช. ว่าด้วยเรื่อง “วิทยุชุมชนเชิงประเด็น” โดยไม่หาทางแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องและเป็นธรรมแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้เครือข่ายสถานีทั้ง ๑๑๗ แห่ง ต้องตกอยู่ในสภาวะที่หมิ่นเหม่ต่อความถูกต้องและมั่นคง จนในที่สุดอาจพลาดโอกาสที่จะได้รับ “ใบอนุญาต” ได้ทันกำหนดเวลาที่ควรได้ 
ผลการตัดสินใจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจะเป็นเช่นไรนั้น ทางสถานีจะได้รายงานความคืบหน้าให้ได้รับทราบเป็นระยะๆ ต่อไป